หนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต (Passport) หมายถึง เอกสารสำคัญที่กองหนังสือเดินทางกระทรวงต่างประเทศ ออกให้กับประชาชนไทย ผู้ซึ่งมีเหตุต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย เพื่อใช้เป็นหลักฐานบันทึกข้อมูลบุคคล และประวัติการเข้าออก ทั้งประเทศไทยและประเทศที่บุคคลนั้นๆ เดินทางไป โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นหนังสือเดินทางแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Passport แล้วนะคะ
หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-passport) คืออะไร ?
เป็นหนังสือเดินทางที่มีคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิค ตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งแตกต่างจากหนังสือเดินทางแบบเดิม ดังนี้
• มีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ (biometric data) ได้แก่ รูปใบหน้า และ/หรือ ลายนิ้วมือ และ/หรือ ม่านตา ไว้ใน Contactless Integrated Circuit ซึ่งฝังอยู่ในเล่มหนังสือเดินทาง
• มีการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของหน้งสือเดินทาง
หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ดีกว่าหนังสือเดินทางแบบเดิมอย่างไร
1. ป้องกันการปลอมแปลงได้สูง เป็นมาตรการสำคัญในการสกัดกั้นขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ การลักลอบเข้าเมือง ฯลฯ
2. สามารถตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลได้แม่นยำและรวดเร็ว อำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง การเข้าเมือง และส่งเสริมการท่องเที่ยว
3. เสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้หนังสือเดินทางไทยมีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับสากลยิ่งขึ้น
แต่... หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จะไม่สามารถต่ออายุได้เหมือนหนังสือเดินทางรุ่นเดิมนะคะ โดยจะเป็นการออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่แทนเล่มเดิม
* กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้นำระบบหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) มาใช้ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2548
หนังสือเดินทางของไทย มี 4 ประเภท
1. หนังสือเดินทางธรรมดา (หน้าปกสีแดงเลือดหมู)
2. หนังสือเดินทางราชการ (หน้าปกสีน้ำเงินเข้ม)
3. หนังสือเดินทางทูต (หน้าปกสีแดงสด)
4. หนังสือเดินทางชั่วคราว (หน้าปกสีเขียว) อายุ 1 ปี
การทำหนังสือเดินทาง
เอกสารในการทำหนังสือเดินทาง >> บัตรประจำตัวประชาชน
เอกสารอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรม ใบสำคัญการสมรส ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนบ้าน คำสั่งศาลกรณีระบุผู้มีอำนาจปกครองแทนบิดามารดา เป็นต้น
การยื่นคำร้อง
การยื่นคำร้อง ผู้ร้องต้องมายื่นคำร้องด้วยตนเอง เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการบันทึกข้อมูลชีวภาพ (ถ่ายภาพใบหน้า และลายพิมพ์นิ้วมือ) โดยมีขั้นตอนดังนี้
- รับบัตรคิว
- พบเจ้าหน้าที่เพื่อวัดส่วนสูง เก็บข้อมูลชีวภาพ ถ่ายรูป และพิมพ์ลายนิ้วมือ
- ลงชื่อในใบคำร้อง
- ชำระเงินค่าธรรมเนียม รับใบเสร็จ และใบนัดจ่ายเล่ม
ค่าธรรมเนียม >> ราคาเล่มละ 1,000 บาท และมีอายุใช้งาน 5 ปี
** กองหนังสือเดินทางจะจ่ายหนังสือเดินทางให้ผู้ยื่นคำร้องขอภายใน 5 วันทำการ สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมารับแทนได้
สำหรับใครที่ไม่สะดวกมารับหนังสือเดินทางเอง ก็มีบริการส่งเล่มฯ
ให้ทางไปรษณีย์ด้วยค่ะ (โดยเสียค่าส่งไปรษณีย์เพิ่ม 40 บาท)
ติดต่อขอทำหนังสือเดินทางได้ที่ : กรมการกงสุล
ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 02 981 7171-99 , 02 981 7257-8
กองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ สามารถติดต่อได้วันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 8.30 -15.30 น. นอกจากนี้ยังมีสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัด สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์อ้างอิงด้านล่างค่ะ
*** หลีกเลี่ยงการไปขอทำหนังสือเดินทางในช่วงต้นสัปดาห์ โดยเฉพาะวันจันทร์
เนื่องจากมีผู้มาใช้บริการมากทำให้ใช้เวลานานในการรอคิวยื่นคำร้องขอหนังสือ
อย่าลืมนะคะว่าหนังสือเดินทางเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้แสดงตัว ระหว่างที่เราอยู่ต่างประเทศ ต้องเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย และ ไม่ควรปล่อยให้หมดอายุ หากหนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 6 เดือน ควรติดต่อเพื่อขอทำเล่มใหม่ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก :
www.consular.go.th
www.thaiembassy.org
www.mfa.go.th
www.wikipedia.org
ข้อมูลการทำหนังสือเดินทาง (Passport)
About author: N2Trip
ทีม N2Trip เกิดจากประชากรกลุ่มเล็กๆ ไปเที่ยวกันแบบครอบครัว เราอยากแชร์ประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ได้ไปสัมผัสมาในแต่ละทริป เน้นบทความง่ายๆ อ่านสบาย ภาพใหญ่ชัดเจน เป็นอีกมุมมองที่พวกเราเลือกมาฝากทุกคน"ไปเที่ยวด้วยกันนะคะ"
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment